พระเครื่อง วัตถุมงคล
พระเครื่อง หรือ พระเครื่องราง หมายถึง พระพุทธรูปขนาดเล็ก สร้างไว้สำหรับบรรจุไว้ในเจดีย์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อาจจะรวมถึงรูปสมมติขนาดเล็กของพระสงฆ์อริยบุคคล พระโพธิสัตว์ และ เทพเจ้า ด้วย
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง จึงนับเป็นเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีอยู่คู่กับมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จนถึงทุกวันนี้ วัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ายังเป็นที่นิยมและมีความเชื่อถือ
ประวัติการสร้าง
พระเครื่องมีความเป็นมา และ วิวัฒนาการอันยาวนาน ก่อนจะมาเป็นพระเครื่องนั้นได้เกิดพระพิมพ์ขึ้นมาก่อน เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนไป คติการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปและเลือนหายไปในที่สุด พระพิมพ์บางส่วนกลายมาเป็นพระเครื่อง พระพิมพ์เป็นของเก่าแก่ที่ได้มีผู้ทำขึ้นตั้งแต่ตอนต้นพุทธศาสนา มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย การแผ่ขยายอิทธิพลทางพุทธศาสนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้พระพิมพ์ซึ่งเป็นประติมากรรมเนื่องในคติทางพุทธศาสนาได้แผ่กระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ พร้อมกับคำสอน ความเชื่อทางพุทธศาสนา พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงวัตถุเนื่องในพุทธศาสนาด้วย
พุทธศาสนา เข้ามาสู่ประเทศไทยราวสมัยทวารวดีพร้อมกับความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ ในสมัยทวารวดีได้รับเอาคติความเชื่อของชาวอินเดียเข้ามาโดยตรงส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวารวดีมีวัตถุประสงค์การสร้างเหมือนกับอินเดีย คือ การสร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องปัญจอันตรธานซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาแผ่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ แต่ละพื้นที่ อาทิ พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ส่งผลให้การสร้างพระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยจากที่สร้างพระพิมพ์เพื่อสืบพระศาสนาเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายและเป็นการสะสมบุญเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ในภายหน้า เป็นต้น
ในสมัยอยุธยาเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความศักดิ์สิทธิ์ และดลบันดาลให้เกิดอานุภาพต่าง ๆ สำหรับพกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเวลาไปสงครามแทนการพกเครื่องรางแบบเก่า เช่น ผ้าประเจียด (ผ้ายันต์ที่ใช้ผูกแขนหรือคล้องคอ) ตะกรุด พิสมร เป็นต้น ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เกิดการเปลี่ยนแนวคิดทางพุทธศาสนา อีกทั้งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและวิทยาการจากชาติตะวันตก การสร้างพระพิมพ์เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้รับความนิยมมากขึ้น พระพิมพ์ที่สร้างเพื่อความเชื่อและความศรัทธาในพุทธคุณด้านต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า “พระเครื่อง”
ความเชื่อและคตินิยม
- เครื่องรางส่วนใหญ่ การสร้างสร้างให้มีขนาดเล็กเพื่อที่จะสามารถสร้างได้จำนวนมาก สำหรับบรรจุในเจดีย์ เพื่อว่าในอนาคตเมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมลง วัตถุต่างๆพังทลายยังสามารถพบรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าเพื่อแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนา
- ใช้เป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันในการออกศึกสงครามของคนโบราณ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง
- ปัจจุบันนิยมนำมาห้อยคอเป็นเครื่องรางสำหรับคุ้มครองป้องกันและเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตตามความเชื่อปรัมปราของไทย
วัตถุมงคล
วัตถุมงคล หมายถึง เครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่างๆ
วัตถุมงคล เป็นเรื่องของความเชื่อและศรัทธาในสิ่งของที่สร้างขึ้นมีความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา ตามสมัยนิยมตั้งแต่โบราณกาลมีหลักฐานเป็นวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมีอายุเก่าแก่เกือบ 2,000 ปี วัตถุมงคลจะมีมากมายในสังคมไทย เช่น พระเครื่อง, พระกริ่ง, พระกริ่งปวเรศ, ปลัดขิก, ผ้ายันต์, ตะกรุด, มีดหมอ, องค์เทพที่เป็นทางศาสนาอื่น ๆ เช่น พระพรหม, พระตรีมูรติ, พระราหู
สำหรับ เครื่องราง เป็นสิ่งที่มีมาตั้งสมัยโบราณกาลนับพันปีมาแล้ว และประวัติเครื่องรางของขลังไม่ได้มีเฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ชนชาติอื่น ๆ ก็มีเครื่องรางใช้กันมานานแล้ว โดยเชื่อกันว่าของสิ่งนี้จะสามารถปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่าง ๆ ให้ได้ รวมทั้งในเรื่องของโชคลาภ ความโชคดีทั้งหลายทั้งปวง
สำหรับความเชื่อในเรื่อง เครื่องราง ของคนไทย มีมาแต่ครั้งโบราณ ดังจะเห็นได้ในวรรณกรรมที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะ เครื่องราง ที่นักรบใช้ติดตัวในยามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ห้าวหาญไม่เกรงคลัวข้าศึก โดยเชื่อกันว่า เครื่องราง ที่สร้างขึ้นด้วยวิชาไสยศาสตร์ชั้นสูง โดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมอันเข้มขลัง จะสามารถช่วยคุ้มครองป้องกันภัยรอบตัวได้เป็นอย่างดี
การบูชาวัตถุมงคล ควรเช่ามาบูชาด้วยเงินของตนเองจะขลังกว่ามีผู้ให้มา เพราะถ้ารับจากผู้อื่นมา ถือว่าบูชาแทนเขา บุญและความขลังจะน้อยกว่าเช่ามาบูชาเอง
วัตถุมงคล ในศาสนาพุทธ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า พระเครื่องราง หรือ พระเครื่อง คือรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าที่มีขนาดเล็ก สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเพื่อสืบทอดพระศาสนา พระเครื่องอาจจะรวมถึงรูปสมมติของพระโพธิสัตว์, พระอริยสงฆ์และเทพเจ้าที่มีขนาดเล็กด้วย วัตถุมงคล ทางพุทธศาสนานั้นประกอบด้วย 2 ประเภท
วัตถุมงคล ภายนอก เช่น วัตถุที่สร้างมาจากดิน โลหะ ฯลฯ วัตถุมงคล ภายใน หรือที่เรียกว่า มงคลชีวิต คือคำแนะนำในการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขและความเจริญก้าวหน้าของชีวิต ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 38 ข้อ ในมหามงคลสูตรหรือเรียกว่า มงคล 38 ประการ
พระเครื่องประจำวันเกิด
พระเครื่องประจำผู้ที่เกิดวันจันทร์

สำหรับคนที่ เกิดวันจันทร์ เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักแก่บุคคลทั้งหลาย โกรธง่ายหายเร็ว ทำการสิ่งใดมักละเอียดรอบคอบเหมาะกับงานด้านศิลปะ แต่ก็ใจน้อยและอ่อนไหวง่าย ทำให้ขาดอำนาจและวาสนา
โบราณาจารย์จึงให้ “พระปางห้ามญาติ” เป็นพระประจำวันเกิด เพราะดาวจันทร์ความคิดสับสน ปางนี้จึงเหมือนเตือนเจ้าชะตา
ผู้ที่กำเนิดในตำแหน่งลัคนาดาวจันทร์นั้น ดุจพระพุทธองค์ห้ามญาติทั้งสองฝ่ายที่แย่งน้ำซึ่งกันและกัน เมื่อวันจันทร์เป็นวันที่มีเสน่ห์แต่ขาดซึ่งอำนาจและวาสนา
พระเครื่องที่เหมาะสำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์ ควรจะเป็น “พระตระกูลยอดขุนพล” ที่ทำด้วยโลหะ เช่น ตะกั่วแก่ ดีบุก ชินเงิน หรือตะกั่วสนิมแดง เพื่อเสริมอำนาจบารมี อันได้แก่ พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย, พระร่วงหลังลายผ้า จ.ลพบุรี, พระพิจิตรข้างเม็ด กรุเขาพนมเพลิง, พระกรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ


พระเครื่องประจำผู้ที่เกิดวันอังคาร

สำหรับคนที่ เกิดวันอังคาร เป็นคนมุทะลุดุดัน เจ้าอารมณ์ โมโหร้าย แต่ก็เป็นคนรักจริง เอาจริงเอาจังต่อทุกสิ่งทุกอย่าง โบราณาจารย์ท่านจึงให้ “พระปางไสยาสน์” เป็นพระปางประจำวันเกิด ให้ความหมายถึง พระนอนเย็นอนุสติ เตือนใจให้รู้จักความเยือกเย็น พระเครื่องที่เหมาะสำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร จึงควรเป็น “พระเนื้อผง” พระผงพุทธคุณที่ไม่ผ่านความร้อน โดยเฉพาะ “พระผงในตระกูลสมเด็จ” เพราะพุทธานุภาพขององค์พระจะช่วยให้จิตใจเยือกเย็น เป็นสมาธิ สามารถบรรเทาธาตุโทสะจริตของเจ้าชะตาได้
อันได้แก่ พระสมเด็จวัดระฆัง, พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม, พระสมเด็จวัดเกศไชโย รวมถึงพระผงคณาจารย์ต่างๆ เช่น พระปิลันทน์ วัดระฆัง, พระวัดท้ายตลาด หรือพระวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น
